ปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มักเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพในช่วงเดือน ธ.ค.- มี.ค. ของทุกปี แม้รัฐบาลเริ่มแก้ปัญหาในระดับโครงสร้างไปแล้วบางส่วน แต่ตัวเลขระดับฝุ่นพิษตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงสัปดาห์นี้ ยังคงอยู่ในระดับสูงทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
ช่วงสัปดาห์แรกของเดือน มี.ค. 2566 เป็นช่วงที่ควรเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดย กทม. มีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงได้ในบางพื้นที่ช่วงวันที่ 2-7 มี.ค.
ขณะที่พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงในพื้นที่ภาคเหนือทั้งตอนบนและล่างระหว่างวันที่ 2-8 มี.ค.
ข้อมูลจาก รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตร สิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ประเทศไทยเผาในที่โล่งครองแชมป์อาเซียนติดต่อกันวันที่ 2
ค่าฝุ่นพิษ PM 2.5 ของกรุงเทพมหานคร เช้านี้ (1 มี.ค.) เมื่อเวลา 08.00 น. เกินคำแนะนำ 24 ชั่วโมงขององค์การอนามัยโลก 5 เท่า ในกรุงเทพฯ และหลายพื้นที่ในทุกภูมิภาคของไทยต่างก็ได้รับผลกระทบ
โดย 11 จังหวัดแรกที่มีค่ามลพิษทางอากาศสูงมาก ได้แก่ พิษณุโลก หนองบัวลำภู สุโขทัย ฉะเชิงเทรา ลำปาง แพร่ ลำพูน หนองคาย อุตรดิตถ์ นครพนม และ สุพรรณบุรี ตามลำดับ
สำหรับกรุงเทพมหานคร แอปพลิเคชัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ แสดงค่าฝุ่นเกินขนาดมาตรฐานหลายจุดใน กทม.และปริมณฑล เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเมื่อเวลา 09.00 น. ค่าฝุ่นสูงสุดวัดที่ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ตรวจวัดค่าปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้ 97 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.)
|